บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ยกต้นแบบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจ ตามหลัก BCG Economy Model ชูระบบไบโอแก๊ส (Biogas) ในฟาร์มสุกรและคอมเพล็กซ์ไก่ไข่ หนุนกระบวนการผลิตอาหารอย่างยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ช่วยลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 490,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี ตอกย้ำเป้าหมายส่งเสริมภาคปศุสัตว์รักษ์โลก และช่วยลดโลกร้อน
นายสมพร เจิมพงศ์ รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ซีพีเอฟให้ความสำคัญกับระบบการผลิตอาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของระบบอาหารยั่งยืน โดยเฉพาะการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ด้วยการนำหลักเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) หรือ BCG มาใช้บริหารจัดการธุรกิจ หนุนการเติบโตอย่างยั่งยืนควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนในฟาร์มสุกร โดยนำระบบไบโอแก๊ส (Biogas) มาเปลี่ยนมูลสัตว์เป็นพลังงานทดแทน ซึ่งซีพีเอฟเป็นองค์กรที่นำร่องดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2544 เป็นเวลา 21 ปีแล้ว สามารถเป็นต้นแบบของแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice) ใหักับหน่วยธุรกิจอื่น ๆ และถ่ายทอดความรู้ให้กับเกษตรกรในโครงการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงสุกรรายย่อย (คอนแทรค ฟาร์มมิ่ง) เพื่อร่วมกันผลักดันภาคปศุสัตว์มีส่วนร่มในการลดภาวะโลกร้อนให้กับโลกอย่างยั่งยืน
ซีพีเอฟ ต่อยอดความสำเร็จจากระบบไบโอแก๊ส ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของกรีนฟาร์ม (Green Farm) เพื่อผลิตก๊าซชีวภาพ สำหรับนำมาเปลี่ยนเป็นกระแสไฟฟ้าใช้ในฟาร์ม ช่วยลดต้นทุนด้านไฟฟ้าในฟาร์มสุกรของบริษัททั้ง 98 แห่ง ได้ถึง 50-80% ของค่าไฟฟ้าทั้งหมดที่ใช้ในฟาร์ม ลดกลิ่น และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่ชั้นบรรยากาศ พร้อมกันนี้ นำระบบไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ มาใช้ทั้ง Solar Rooftop และ Solar farm
ด้าน นายสมคิด วรรณลุกขี รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธุรกิจไก่ไข่ ซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟ มุ่งมั่นนำพลังงานทดแทนมาใช้ในคอมเพล็กซ์ไก่ไข่ซีพีเอฟทั้ง 7 แห่งทั่วประเทศ ได้แก่ เชียงใหม่ พิษณุโลก นครราชสีมา ร้อยเอ็ด อุดรธานี จันทบุรี และสงขลา ทำให้สามารถจัดการของเสียในกระบวนการเลี้ยงไก่ไข่ ด้วยการผลิตไบโอแก๊สจากมูลไก่เป็นกระแสไฟฟ้าใช้เองในสถานประกอบการ ช่วยลดกลิ่น ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และยังช่วยลดต้นทุนด้านไฟฟ้าลง 70-80% รวมทั้งยังได้นำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาใช้บริหารจัดการทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดในกระบวนการของโรงคัดไข่ไก่
ขณะเดียวกัน น้ำหลังการบำบัดจากระบบไบโอแก๊ส นำไปใช้หมุนเวียนผสมกับมูลไก่ในระบบฯ โดยไม่จำเป็นต้องใช้น้ำดิบจากธรรมชาติ ส่วนกากไบโอแก๊สหลังการบำบัด มีเกษตรกรที่ขอไปใช้ประโยชน์ในการปรับสภาพดินก่อนที่จะปลูกพืช หรือทำนา ส่วนน้ำหลังการบำบัด เป็นน้ำที่มีแร่ธาตุเหมาะกับการเติบโตของพืช ส่งต่อให้เกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียงฟาร์ม นำไปใช้กับแปลงเพาะปลูก ช่วยให้ผลผลิตเติบโตได้ดี มีผลผลิตเพิ่มขึ้น และลดค่าใช้จ่ายในการซื้อปุ๋ยเคมี
จากการที่ ซีพีเอฟพัฒนาการกำจัดของเสียและน้ำเสีย ที่เกิดจากมูลสัตว์ของฟาร์มเลี้ยงสุกรและคอมเพล็กซ์ไก่ไข่ โดยมีการติดตั้งระบบก๊าซชีวภาพในการบำบัดมูลสัตว์และน้ำที่ใช้ในการเลี้ยงสุกรและไก่ไข่ นอกจากจะช่วยลดกลิ่นและการปล่อยก๊าซมีเทนที่จะออกสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งได้นำก๊าซมีเทนและคาร์บอนไดออกไซด์ที่ได้จากระบบก๊าซชีวภาพไปผลิตกระแสไฟฟ้า และนำกลับมาใช้ในฟาร์มเลี้ยงสุกรและไก่ สามารถทดแทนไฟฟ้าได้ 69 ล้านหน่วย ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 490,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี
ซีพีเอฟ ในฐานะผู้นำในธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจร ให้ความสำคัญในการสร้างสมดุลของทรัพยากรธรรมชาติและการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยวางกลยุทธ์และเป้าหมายความยั่งยืน CPF 2030 Sustainability in Action ที่มุ่งสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในทุก ๆ วันของการดำเนินธุรกิจ ด้วยการนำแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนมาเป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ควบคู่ไปกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ที่กำหนดไว้ 17 เป้าหมาย ตลอดจนดำเนินธุรกิจตามแนวทางข้อตกลงแห่งสหประชาชาติ (United Nations Global Compact : UN Global Compact) และสนับสนุนเป้าหมายความยั่งยืนของเครือเจริญโภคภัณฑ์ เพื่อมุ่งบรรลุเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net zero emissions) ภายในปี 2050
ที่มา: https://prarena.ixz.one/2022/12/cpf-news-cpf-21-best-practice-bcg-model.html (ดูรายละเอียดและภาพประกอบเพิ่มเติม)
No comments:
Post a Comment