“ ความงามแห่งศิลปะ คือ เรียนรู้ชีวิตว่าจริงๆ ศิลปะสอนมากกว่าที่มองเห็นความงามศิลปะคือความงามแห่งการดำเนินชีวิต ” ปัญญา เพ็ชรชู ครูเพาะช่าง - What-Journal.com

Breaking

Home Top Ad


Post Top Ad

Thursday, July 25, 2024

“ ความงามแห่งศิลปะ คือ เรียนรู้ชีวิตว่าจริงๆ ศิลปะสอนมากกว่าที่มองเห็นความงามศิลปะคือความงามแห่งการดำเนินชีวิต ” ปัญญา เพ็ชรชู ครูเพาะช่าง


ครูเป็นบุคคลสำคัญที่สุดของศิษย์ บทบาทของครูผู้สอนนั้น ถือว่าเป็นตัวแปรสำคัญต่อการพัฒนาศักยภาพด้านต่างๆของลูกศิษย์ ไม่เพียงแต่ทางด้านวิชาการที่จำเป็น ด้านจิตวิญญาณที่สำคัญต่อการดำรงชีวิต ครูเป็นผู้มีอิทธิพลและมีผลต่อความสำเร็จของลูกศิษย์โดยตรง เมื่อความสำคัญของครู มีมากมายเช่นนั้น ครูและบทบาทของครูที่เป็นตัวอย่างจึงเป็นความจำเป็นอย่างยิ่ง ต่อการเป็นต้นแบบ แม่แบบ แม่พิมพ์ให้กับคนรุ่นต่อๆมา


ศิษย์เพาะช่าง จึงมีการดำริ ถึงการรำลึกถึง และการแสดงมุทิตาจิต ต่อครูผู้ให้ ผู้สร้างสรรค์ศิษย์และ ผู้สร้างทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่าแก่สังคม งานรำลึกและโครงการ ชูเพ็ชร จึงเกิดขึ้น เพื่อเป็นการยกย่อง เชิดชู ครูผู้ให้แก่ศิษย์ ซึ่งจะเป็นตัวอย่างแก่สังคมปัจจุบัน ที่ต้องการเห็นตัวอย่างครูต้นแบบของผู้ให้อย่างชัดเจน


ครูปัญญา เพ็ชรชู (ศาสตรเมธี ปัญญา เพ็ชรชู) ท่านเป็นครูศิลปะประจำสาขาจิตรกรรมสากล คณะวิชาวิจิตรศิลป์ โรงเรียนเพาะช่าง ครูผู้มีความเชี่ยวชาญทางด้านการวาดภาพเหมือนบุคคลด้วยเทคนิคสีชอล์ค สีน้ำ ดรออิ้ง จากผลงานการวาดภาพผู้บัญชาการ ผู้อำนวยการ และผู้บริหารของโรงเรียนเพาะช่างทุกพระองค์ ทุกท่านนับตั้งแต่ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๖ ซึ่งภาพผลงานเขียนโดย ครูปัญญา รวมทั้งพระบรมสาทิสลักษณ์ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๖ พระผู้สถาปนาโรงเรียนเพาะช่างขึ้นตามกระแสพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ และพระบรมสาทิสลักษณ์ในราชวงศ์จักรี


ครูปัญญา เพ็ชรชู เกิดที่ จ.สมุทรสาคร ความสนใจในศิลปะเริ่มต้นขึ้นเมื่อครั้งเรียนมัธยมเนื่องจากมีโอกาสเรียนกับ ดำรง เล็กสวาสดิ์ ครูสอนศิลปะแห่งโรงเรียนวัดธรรมจริยาภิรมย์ อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร ซึ่งเคยเป็นศิษย์เก่าเพาะช่าง และส่วนหนึ่งมีความประทับใจในความสวยงามของลายดอกกุหลาบที่พิมพ์อยู่บนจานชามที่บ้าน จนทำให้อยากวาดภาพ ทำให้ในเวลาต่อมาตัดสินใจศึกษาต่อทางด้านศิลปะ ที่โรงเรียนเพาะช่าง และ วิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร กระทั่งสอบบรรจุเป็นอาจารย์ที่รั้วเพาะช่าง ในปี พ.ศ.2515


ตลอดชีวิตของการเป็นศิลปินและอาจารย์สอนศิลปะที่รั้วเพาะตั้งแต่เริ่มบรรจุกระทั่งเกษียณอายุราชการ เป็นเวลาเกือบ 40 ปี ชื่อของ ครูปัญญาจะเป็นที่กล่าวถึงในแง่ของการเป็นครูผู้ทุ่มเทและมีความเมตตากับลูกศิษย์ โดยเฉพาะการช่วยเหลือลูกศิษย์ที่มีฐานะยากจน เพื่อให้พวกเขาเหล่านั้นได้มีโอกาสเรียนศิลปะและทำงานศิลปะต่อไปได้ ครูปัญญามักจะเจียดรายได้ส่วนหนึ่งของตัวเองมาช่วยเหลือ อีกทั้งความเป็นผู้ที่มีจิตใจอ่อนโยน ใช้ชีวิตสมถะเรียบง่าย ทำให้เป็นที่เคารพรักของนักศึกษาทั่วไป แม้จะไม่เรียนศิลปะกับ ครูปัญญา เพ็ชรชู โดยตรง


นอกจากนี้ในแง่ของการเป็นศิลปิน ครูปัญญายังมีชื่อเสียงในด้านการวาดภาพเหมือนบุคคลด้วยเทคนิคสีชอล์ก โดยเบื้องต้นได้แรงบันดาลใจและศึกษาจากผลงานของศิลปินที่มีชื่อเสียงในอดีต อาทิ จำรัส เกียรติก้อง,เฉลิม นาคีรักษ์ ฯลฯ


ตัวอย่างผลงานชิ้นสำคัญของ ครูปัญญา อาทิ พระบรมสาทิสลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ไทยและพระบรมวงศานุวงศ์ในหนังสือวชิราวุธานุสรณ์สาร, ภาพเหมือนสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทโย) สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 15 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ซึ่งขณะนี้ภาพชิ้นนี้ติดประดับไว้ ณ วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร, ภาพเหมือนเจ้าอาวาสวัดราชบพิธ, พระสาทิสลักษณ์ สมเด็จพระสังฆราช 19 พระองค์ ณ วัดบวรนิเวศ ราชวรวิหาร, รวมถึงเป็นผู้ได้รับมอบหมายจากทางวัดให้เขียนพระบรมสาทิสลักษณ์ รัชกาลที่ 5 รัชกาลที่ 6 รัชกาลที่ 7 รัชกาลที่ 9 ขณะทรงผนวช, ภาพเหมือนสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร และอดีตผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช, พระสาทิสลักษณ์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก บนหนังสือที่ระลึกพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ เล่มสีเหลือง ซึ่งแจกโดยกรุงเทพมหานคร ฯลฯ


ถ้าหากใครที่มีโอกาสเข้าไปในห้องโถงอาคารอำนวยการโรงเรียนเพาะช่าง ก็จะเห็นภาพเขียนสีชอล์กผู้บัญชาการ ผู้อำนวยการ และผู้บริหารของโรงเรียนเพาะช่างทุกพระองค์และทุกคนนับแต่ที่โรงเรียนเพาะช่างก่อตั้งเมื่อปี 2456 ซึ่งภาพเขียนหลายภาพเขียนโดยของ ครูปัญญา รวมถึงพระบรมสาทิสลักษณ์ของล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 พระผู้สถาปนาโรงเรียนเพาะช่างขึ้นตามกระแสพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5


ผลจากการอุทิศตนรับใช้สังคมทั้งทางด้านศิลปะและพระพุทธศาสนา ทำให้ในปี พ.ศ.2545 มูลนิธิ ม.ล.ปิ่น มาลากุล มอบรางวัล "ศาสตรเมธี " สาขาศิลปกรรมศาสตร์ด้านจิตรกรรมศาสตร์ ให้แก่ ครูปัญญา เพ็ชรชู และต่อมาในปี พ.ศ.2556 ยังได้รับ “รางวัลต้นธารศิลป์” จากสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์


“ ภาพเหมือนที่ผมชอบเขียนที่สุดคือภาพพระสงฆ์เพราะเขียนได้ง่ายและท่านนำจิตใจเราไปสู่ความดี กิเลสลดลง " ความรู้สึกส่วนหนึ่งของ ครู ปัญญา ที่มีต่อผลงานภาพเหมือนบุคคลของตนเอง


จากความสำคัญที่กล่าวมาทั้งหมด ศิษยานุศิต จึงมีความตั้งใจต่อการรำลึกถึงครูผู้มีคุณูปการต่อสังคม เพื่อดำรงความงดงามของครูผู้ให้ และเป็นตัวอย่างต่อศิษย์และครรุ่นหลังได้เรียนรู้ ถึงความหมาย รูปแบบของครูที่แท้จริง รวมทั้งการแสดงผลงานของ ครูปัญญา เพ็ชรชู และการสร้างสัญญาลักษณ์ ต่อการดำรง ความดี การรำลึกและการแสดงความกตัญญูกตเวทิตาต่อครูผู้ให้


โครงการ ชูเพ็ชร จึงเกิดขึ้น เพื่อเชิดชูเพ็ชรเม็ดงามของวงการศิลปะ เพชรที่ต้องเชิดชูและยกย่อง สังคมได้ตระหนัก นึกถึงและเล่าขานเป็นประวัติศาสตร์ เป็นตัวอย่างแก่บุคคลรุ่นหลัง โดยเฉพาะเยาวชน รุ่นต่อๆไปที่ต้องการเห็นต้นแบบของความดี ความงาม และความจริง ที่มีอยู่ในบุคคลคนหนึ่ง ผู้ทำประโยชน์เพื่อสังคมจากงานศิลปะและความชำนาญที่มีอยู่ในตนเองและหาได้ยากยิ่ง


ข้อมูล จากงาน ครูปัญญา เพ็ชรชู “ ศาสตรเมธี ปัญญา เพ็ชรชู " เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ.2559 และงานสวดอภิธรรมบำเพ็ญกุศล ระหว่างวันที่ 26 สิงหาคม - 1 กันยายน พ.ศ.2559 ณ ศาลา 10 วัดโสมนัสราชวรวิหาร


<> วัตถุประสงค์โครงการ ชูเพ็ชร

- เพื่อรำลึก ยกย่อง เชิดชู บุคคลสำคัญ เพื่อเป็นให้สังคมได้เรียนรู้ตัวอย่างของครู ผู้เป็นแบบอย่างแก่ศิษย์ และสังคม

- เพื่อเรียนรู้ผลงาน ชีวิตของครู ผู้เพาะช่าง ผู้สร้างบุคลากรทางศิลปะ
และช่าง

- เพื่อแสดงผลงานศิลปะที่สำคัญ อันเป็นประวัติที่ต้องจารึกและเผยแพร่
แก่ สังคม

- เพื่อเป็นเวทีต่อการแสดงมุทิตาจิตแก่บุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์แห่งวงการช่างและศิลปะ


<> กิจกรรมหลักๆในการดำเนินโครงการ “ ชูเพชร ” แบ่งออกเป็น 3 ส่วนใหญ่ๆคือ

1. มอบทุนการศึกษาและอาหารกลางวัน แก่ นักศึกษาวิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์

2. Exhibition งานนิทรรศการ ภาพเขียน และประวัติ ครูปัญญา เพ็ชรชู แจกหนังสือ “ ศาสตรเมธีปัญญา เพ็ชรชู ”

3. มอบหนังสือแก่ครูผู้ได้รับ รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร ในโครงการ “ รางวัลครูเจ้าฟ้า ครูผู้มีผลงานดีเด่น ครูผู้เปลี่ยนแปลงชีวิตศิษย์ ” จากครูผู้ได้รับคัดเลือกจากทั่วประเทศ

สำหรับงานจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 5 -27 ตุลาคม 2567 ณ วิสเปอริ่ง การ์เด้น คาเฟ่ อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม Whispering Café Sampran, Nakhonprathom


<> Exhibition ประกอบด้วย นิทรรศการ ชีวิต ประวัติ และผลงานภาพเขียนของ ครูปัญญา เพ็ชรชู

กำหนดการ วันเปิดนิทรรศการ วันเสาร์ที่ 5 ตุลาคม 2567

9.30 น. พระสงฆ์ 4 รูป สวดพระพุทธมนต์, บังสุกุล

10.00 น. “ สนทนากัลยาณมิตร ” กับพระอาจารย์ประสงค์ ปริปุณโณ และพระอาจารย์สุรศักดิ์ สุรญาโณ

12.00 น. รับประทานอาหารร่วมกัน

14.00-15.00 น. เขียนทราย ประวัติและผลงานครูปัญญา เพ็ชรชู โดย ก้องเกียรติ กองจันดี

15.00-16.00 น. การแสดงดนตรี ชุด “ ชูเพ็ชร ครูปัญญา เพ็ชรชู “ โดย วงจีวันแบนด์

16.00 น . ประธานในพิธี คุณกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร แล คุณกมลรัตน์ เพ็ชรชู กล่าวเปิดงาน


<> นิทรรศการแสดงที่ Whispering Garden Land สามพราน นครปฐม “ ศิลปะแห่ง ความดี ความงาม ความจริง ” บรรยากาศที่จะแสดงคือ เกิดขึ้นในโรงนาสวยงามท่ามกลางธรรมชาติขนาดใหญ่ และทุกสิ่งอย่างจะเกิดขึ้นในโรงนาขนาดใหญ่นี้ แปลงเป็นเสมือนหนึ่ง ร้านกาแฟ ที่ครูตั้งใจ เมื่อเกษียณ จะไปทำ… เขียนโดย ดินป่า จีวัน ลูกศิษย์ ครูปัญญา เพ็ชรชู นักศึกษาคณะจิตรกรรมสากล โรงเรียนเพาะช่าง รุ่นที่ 71


<> โครงการ (Project) “ ชูเพชร ครูปัญญา เพ็ชรชู ” หลักการปวารณาอุทิศตัว ตามหลักของ ศีลธรรมและ คุณธรรม กำหนดลงไปในกิจกรรม (activities) เคลื่อนไหวอย่างพิถีพิถัน ทุกขั้นตอนในยามโลกเข้าสู่ยุค “ กลียุค ” นี้ จำเป็นต้องกระตุ้นเตือนจิตสำนึกของความเป็น ผู้ให้ ดั่ง “ ครูปัญญา เพ็ชรชูn” ผู้เป็นครูของพวกเรา และเป็นปูชนียบุคคลที่สังคมให้การยอมรับนับถือ


<> กิจกรรม (activities) ครั้งนี้ จึงเป็นการเปิดกล่องเพชร ในความมืด แสงจากเหลี่ยมเพชร ที่ครูของพวกเราได้เฝ้าเจียระไน ตัวเองอย่างถึงที่สุดนี้ จะเป็นบรรทัดฐาน เป็นตัวอย่าง เป็นแบบอย่าง เป็นกำลังใจ แก่อนุชนรุ่นลูก หลาน เหลน ได้เดินตามเส้นทางอันประเสริฐนี้ พวกเขาจะเป็นครูของเด็กนักเรียนศิลปะ หรือ ครูของโลกใบนี้ ก็ไม่ไกลเกินไป นี่คือเส้นทางของการพัฒนาจาก “ คน ” กลายเป็น “ มนุษย์ ” ผู้มีใจสูงที่ได้สื่อแสดง จนประจักษ์ อย่างหมดจด งดงามแล้วทั้งหมดอยู่ในชีวิตของครูที่ชื่อ ปัญญา เพ็ชรชู

กิจกรรมในครั้งนี้จึงมิใช่การทำอีเว้นท์ จัดงานขายสินค้าที่เราเห็นอยู่ดาษดื่นทั่วไป แต่กิจกรรมครั้งนี้มีอุดมการณ์ของความเป็นครู (พระคุณที่สาม) ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นของมนุษย์ ถ้าสังคมขาดครู ต้นแบบที่ดีงาม โลกจะเกิดเภทภัยและปัญหา ร้ายแรง นานัปการ โกลาหลอลหม่าน อย่างแท้จริง นี่จึงเป็น Concept แนวคิดที่ประณีต ละเอียด รอบคอบ เสียสละ สร้างสรรค์ ประดิษฐ์สร้าง แตกช่อ ผลิดอก ผลผลิต พัฒนา ส่งต่อ จึงมิใช่การสร้าง Product สินค้าภาพเขียนมาแขวนเพื่อ Hard sale แต่กิจกรรมนี้เป็น Soft Power พลังแห่งความนุ่มนวล ลึกซึ้ง ดั่งสายลมกระซิบผ่านยอดไม้ (Whispering) จากอุดมการณ์ ทัศนคติ การดำเนินชีวิต ทุ่มอุทิศที่ใช้เวลายาวนานเคี่ยวกรำ บีบบังคับ กิเลส แห่งความเห็นแก่ตัว ให้ออกไป และเหลือความเมตตา กรุณา พัฒนาตัว จนวาระสุดท้ายของชีวิต แต่ครูก็ได้กลั่นกรองตัวเองจนเป็น อมตะ เพชร เรียบร้อย บริบูรณ์


<> Exhibition นิทรรศการแห่งความกตัญญู รู้คุณ

Exhibitionครั้งนี้จะไม่ทำตาม Fashion หรือในรูปแบบที่คุ้นตา ทั่วๆไป นิทรรศการแห่งความกตัญญูกตเวทีนี้ จะไม่ได้มีเนื้อหาเกี่ยวกับ “ราคา” จะไม่พบคำ “เท่าไหร่” ในงานแสดง แต่ประชาชน ตลอดจนสาธุชน จะได้พบกับความพิเศษสุดกับ Process กระบวนการผลิตเพชรแห่งชีวิต ของเด็กหนุ่มจากเมืองน้ำสมุทรสาคร ผู้เจียระไนตนเองจนกลายเป็นเพชรเม็ดงามแห่งเพาะช่าง และเป็นของขวัญให้แก่ชาวโลก ฉะนั้นกระบวนการ Process จึงเป็นขั้นเป็นตอน เป็นลำดับ จะไม่ใช่ การลองผิด ลองถูก แต่คือ ต้นแบบ แม่พิมพ์ แบบแผน ที่มี วิวัฒนาการมาแต่ไทย โบราณ สร้างชาติ แปลงเมือง แห่งความเป็นไทย ไม่เป็นทาส รุ่นสู่รุ่น เป็นวัฒนธรรมของศาสตร์และศิลป์ กลมกลึง กลมกลืน ด้วยความเป็นศิลปะที่มี ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ เป็นแม่พิมพ์ ในการเพาะช่าง “ ครูเพาะช่าง สร้างช่าง เพื่อสร้างชาติ "

#ปัญญาเพ็ชรชู
#panyapetchoo

ติดตามข่าวประชาสัมพันธ์
www what-journal.com

No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad



Pages