สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ สศท. จัดนิทรรศการผลงานต้นแบบจากโครงการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ เพื่อต่อยอดเชิงพาณิชย์ SACIT Concept : Geographical Indications of Art and Crafts กว่า 60 ผลงาน พร้อมจัดเวที Craft Design Matching ระหว่างผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการสินค้าหัตถกรรม GI กับนักออกแบบ ในงาน Crafts Bangkok 2024 ระหว่างวันที่ 24-28 สิงหาคมนี้ ที่ไบเทค บางนา
นางพรรณวิลาส แพพ่วง รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย กล่าวว่า สศท. ให้ความสำคัญด้านการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทย เพื่อผลักดันให้เกิดการผลิตงานศิลปหัตถกรรมได้อย่างยั่งยืน และการพัฒนาผลิตภัณฑ์งานคราฟต์ให้ตอบโจทย์ความท้าทายใหม่ของตลาดโลก ดังนั้นการประยุกต์ใช้ความคิดสร้างสรรค์เพื่อนำมาช่วยให้ผลิตภัณฑ์งานศิลปหัตถกรรมไทยมีความโดดเด่นเฉพาะตัว สามารถพัฒนาได้อย่างเข้มแข็ง พร้อมทั้งผลักดันผู้ผลิตงานหัตถกรรมสร้างการเติบโตทางธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ และผลักดันให้ผู้ผลิตงานศิลปหัตถกรรมไทยได้ริเริ่มการยื่นจดความคุ้มครองในทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่สินค้าหัตถกรรมไทยอย่างมีมาตรฐาน
ในปี 2567 สศท. ได้ดำเนินโครงการ SACIT Concept ซึ่งเป็นกิจกรรมการคิดสร้างสรรค์ผ่านเครือข่ายผู้ผลิตงานศิลปหัตถกรรมไทยในพื้นที่ GI (สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์) โดยการทำงานร่วมกันระหว่าง “ ผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการสินค้าหัตถกรรม GI ” กับ “ นักออกแบบ ” โดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทยที่เกี่ยวข้องกับการนำวัสดุ วัตถุดิบ การทำสีเทคนิคพิเศษ รวมถึงการออกแบบสร้างสรรค์ผลงานผ่านรูปทรง และฟังก์ชั่นการใช้งาน ให้ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ และการสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ผ่านการนำเสนอผลงาน
รวมไปถึงเรื่องราวในการเล่าเรื่องแนวคิดการเริ่มต้นสร้างสรรค์ผลงาน จนเกิดเป็นผลงานผลิตภัณฑ์ต้นแบบ กว่า 60 ผลงาน ภายใต้แนวคิด “ GI Smart Craft Combinations ” จากกลุ่มผู้ผลิตงานหัตถกรรมทั่วประเทศ 30 ราย ประกอบด้วย สมาชิก สศท. อาทิ ครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม กลุ่มช่างฝีมือ ชุมชนหัตถกรรม ผู้ประกอบการทั่วไป และนักออกแบบ 10 ราย ที่ร่วมผนึกกำลังพัฒนาผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทย ยกระดับคุณค่าของพื้นที่ GI ด้วยการหยิบยกการใช้ทุนในพื้นที่ อาทิ ทุนทางประวัติศาสตร์ ทุนทางสังคมและวัฒนธรรม ทุนสิ่งแวดล้อม รวมถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับงานศิลปหัตถกรรมไทย
ผลงานทั้ง 60 ผลงานนี้ สศท.ได้สนับสนุนและส่งเสริมให้ได้รับการยื่นจดทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อให้องค์ความรู้และภูมิปัญญาในการสร้างสรรค์งานหัตถกรรมได้รับความคุ้มครอง เป็นที่ยอมรับและน่าเชื่อถือในระดับบสากลต่อไป ”
นางสาววันวรรษา ชุนจำรัส ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรม กล่าวว่า ปีนี้ สศท. ปรับการพัฒนาขึ้นมาใหม่ โดยสนับสนุนกลุ่มคนสามกลุ่ม ทำงานร่วมกันมากขึ้นในรูปแบบของ Co Creation ระหว่างผู้เชี่ยวชาญช่วยคัดเลือกนักออกแบบและผู้สร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมไทยชั้นครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และผู้ประกอบการงานหัตถกรรม สศท. ได้นำทั้งสองกลุ่มมา Matching กัน เพื่อให้ทั้งสองกลุ่มใช้ทุนทางวัฒนธรรม ทางสังคมและทางสิ่งแวดล้อมที่ตัวเองมีในการสร้างสรรค์ผลงาน เพื่อให้ผลงานที่ได้รักษาไว้ซึ่งองค์ความรู้ดั้งเดิมและภูมิปัญญาท้องถิ่นของพื้นที่ตัวเองและ สามารถตอบสนองวิถีชีวิต และความต้องการของปัจจุบันของคนทุกกลุ่ม ทุกวัย ได้ ภายใต้คอนเซ็ปต์ “ GI Smart Craft Combinations ” นี่คือการผสมที่ลงตัวที่สุดเท่าที่เคยทดลองมา
นายภูสิษฐ์ จาตุรงคกุล ที่ปรึกษาพาณิชย์นวัตกรรม บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด กล่าวว่า จากที่มีกิจกรรมในโครงการที่ผ่านมา จะได้เห็นร่องรอยใหม่ ๆ เป็นการนำสิ่งที่เป็นทุนเดิมเป็นภูมิปัญญาเดิม มาเจอกับนักออกแบบและได้ไอเดียใหม่ๆ เกิดร่องรอยใหม่ๆ เกิดขึ้น ทำให้ผลิตภัณฑ์เติบโตเข้าสู่ตลาดนั้น แตกต่าง ดีกว่า โดนใจตลาดและมีจุดจดจำหรือมีจุดยืนที่ชัดเจน ซึ่งเรื่องราวแบบนี้เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดกระแสใหม่ๆ และการตอบรับใหม่ๆ แก่ผู้บริโภคในมุมใหม่ๆ และเชื่อว่าจากโครงการนี้ จะทำให้ผู้ประกอบการได้เกิดการเรียนรู้และนำแนวคิดเป็นผลพลอยได้นำไปสู่การพัฒนาและต่อยอดได้ดียิ่งๆ ขึ้น
สศท. ขอเชิญชวนทุกท่านมาร่วมค้นหาแรงบันดาลใจ เติมพลังความคิดสร้างสรรค์จากงานศิลปหัตถกรรมฝีมือคนไทย ที่นิทรรศการ SACIT Concept 2024 ในงาน Crafts Bangkok 2024 ระหว่างวันที่ 24 – 28 สิงหาคม นี้ เวลา 10.00-20.00 น. ณ ฮอลล์ 98-99 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค
#CraftsBangkok2024
#SACIT
#CraftDesignMatching
#GISmartCraftCombinations
#สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย
ติดตามข่าวประชาสัมพันธ์
www.what-journal.com
No comments:
Post a Comment