" จีโน่ " อาฒยา ฐิติกุล โปรสาววัย 21 ปี โชว์ฟอร์มยอดเยี่ยมจากไล่ตาม 2 สโตรก ทำอีเกิ้ล และเบอร์ดี้ หลุม 17-18 ทำสกอร์ 7 อันเดอร์พาร์ 65 ในวันสุดท้ายกอล์ฟ ซีเอ็มอี กรุ๊ป ทัวร์ แชมเปียนชิพ ที่รัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันอาทิตย์ ที่ 24 พฤศจิกายน 2567 สกอร์รวม 22 อันเดอร์พาร์ 266 เฉือนชนะ แองเจิล หยิน โปรสาวชาวอเมริกัน ไปหนึ่งสโตรก คว้าแชมป์เรซ ทู เดอะ ซีเอ็มอี โกลบ ไปครองเป็นครั้งแรก พร้อมรับเงินรางวัลก้อนโต 4 ล้านดอลลาร์หรือราว 183 ล้านบาท มากที่สุดในประวัติศาสตร์กอล์ฟหญิง และครองมือ 1 ของทัวร์ทำเงินรางวัลกว่า 208.8 ล้านบาท
การแข่งขันกอล์ฟรายการ ซีเอ็มอี กรุ๊ป ทัวร์ แชมเปียนชิพ รายการสุดท้ายแห่งปีของแอลพีจีเอ ทัวร์ ที่ ทีบูรอน กอล์ฟ คลับ ในเมืองเนเพิลส์ รัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 21-24 พฤศจิากยน 2567 ชิงเงินรางวัลรวม 11 ล้านดอลลาร์หรือราว 380.3 ล้านบาท นำเอานักกอล์ฟ 60 อันดับ และเสมอจากคะแนนสะสม เรซ ทู เดอะ ซีเอ็มอี โกลบ แข่งขันแบบสโตรกเพลย์ 72 หลุมไม่มีตัดตัว
ผ่านไปสามวันแรก "จีโน่" อาฒยา ฐิติกุล นำร่วมกับ แองเจิล หยิน จากสหรัฐอเมริกา และการเริ่มต้นในวันสุดท้ายเมื่อวันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน อาฒยา ทำเบอร์ดี้หลุม 1 พาร์ 5 ทำให้เธอหนีไปนำหนึ่งสโตรกรวม 16 อันเดอร์พาร์ และนำ 2 สโตรกเมื่อทำเบอร์ดี้หลุม 3 พาร์ 4 รวมขึ้นไป 17 อันเดอร์พาร์ ก่อนจะไปพลาดเสียโบกี้หลุม 4 โดยที่ หยิน ทำเบอร์ดี้ในหลุมเดียวกันกลับมานำร่วมกันอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม อาฒยา ทำเบอร์ดี้หลุม 7 พาร์ 4 ทำให้กลับไปนำอีกครั้ง ที่สกอร์รวม 17 อันเดอร์พาร์ ก่อนที่ หยิน จะทำเบอร์ดี้หลุม 8 ขึ้นไปนำร่วม และหยิน นำครั้งแรกเมื่อทำเบอร์ดี้หลุม 10 พาร์ 4 รวม 18 อันเดอร์พาร์ และทำเบอร์ดี้ ที่หลุม 12 หนีไปสองสโตรก สกอร์รวม 19 อันเดอร์พาร์ แต่อาฒยา ทำเบอร์ดี้หลุม 13 ไล่มาเหลือหนึ่งสโตรก และทั้งสองทำเบอร์ดี้หลุม 14 พาร์ 5 อาฒยา จี้ติด 19 อันเดอร์พาร์ หยิน รวม 20 อันเดอร์พาร์ อย่างไรก็ตาม หยิน ทำเบอร์ดี้หลุม 16 พาร์ 3 นำห่างสองสโตรก รวม 21 อันเดอร์พาร์ เมื่อเหลืออีกสองหลุมสุดท้าย
แต่หลุม 17 พาร์ 5 อาฒยา ขี้นช็อตสองออนกรีน และทำอีเกิ้ลในหลุมนี้รวม 21 อันเดอร์พาร์ ขณะที่ หยิน นั้นพัตต์เบอร์ดี้ระยะ 5 ฟุตพลาดจึงทำให้อาฒยานำร่วมเมื่อเข้าสู่หลุมสุดท้ายซึ่งทั้งสองตีไปอยู่ในแฟร์เวย์ โดยอาฒยา แอพโพรชขึ้นไปห่างธงราว 4 ฟุต ส่วน หยิน ห่าง 25 ฟุตพัตต์เบอร์ดี้ไกลไม่ลงก่อนแทปอินพาร์ สกอร์ 6 อันเดอร์พาร์ 66 รวม 21 อันเดอร์พาร์ 267 ด้านอาฒยา พัตต์เบอร์ดี้ลงไปทำสกอร์ 7 อันเดอร์พาร์ 65 รวม 22 อันเดอร์พาร์ 266 คว้าแชมป์ไปครอง
อาฒยา คว้าแชมป์รายการนี้ เป็นครั้งแรก รับเงินรางวัล 4 ล้านดอลลาร์ หรือราว 138.3 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินรางวัลแชมป์มากที่สุดในประวัติศาสตร์กอล์ฟหญิง นับเป็นแชมป์ที่สองของเธอในปีนี้ ต่อจากแชมป์ ทีมดาว แชมเปียนชิพ คู่กับ หยิน ยัวหนิง จากจีน และเป็นแชมป์ที่ 4 ในการเล่นนอาชีพแอลพีจีเอ ทัวร์ และเป็นแชมป์ ที่ 6 ของนักกอล์ฟไทยในแอลพีจีเอ ทัวร์ปีนี้ ร่วมกับ ปภังกร ธวัชธนกิจ แชมป์ ฮอนด้า แอลพีจีเอ ไทยแลนด์, ชเนตตี วรรณแสน แชมป์ เดนา โอเพ่น , โมรียา จุฑานุกาล แชมป์พอร์ทแลนด์ คลาสสิก และจัสมิน สุวัณณะปุระ แชมป์วอลมาร์ท เอ็นดับเบิลยู อาร์คันซอ แชมเปียนชิพ
ขณะนี้ อาฒยา ครองมือหนึ่งของแอลพีจีเอ ทัวร์ปีนี้ ในฐานะทำเงินรางวัลรวมสูงสุด 6,059,309 ดอลลาร์ หรือราว 208.8 ล้านบาท (208,894.364) และเมื่อรวมกับเงินรางวัล The Aon Risk Reward Challenge อีก 1 ล้านดอลลาร์ทำให้ปีนี้เธอทำเงินรางวัลรวมเป็น 7,059,309 ดอลลาร์หรือราว 243.3 ล้านบาท (243.369312) จากการเล่น 17 รายการ สถิติจบลงใน 10 อันดับแรกมากถึง 12 รายการ
อาฒยา เผยหลังคว้าแชมป์ว่า “วันนี้ก็เป็นวันที่ดีมาก จริงๆ ก็ไม่ใช่วันที่จีนรู้สึกว่าตีเหล็กดี แต่ว่าน่าจะพัตต์ดี แต่ว่าสองหลุมสุดท้ายที่เกิดขึ้น จีนว่าเป็นอะไรที่เหนือความคาดหมาย จริงๆ แล้ว จีนไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นที่หลุม 17 และ 18 ซึ่งทำให้ฉันมีโอกาสที่ดี แต่เหมือนกับการมีอีเกิ้ล มันมากกว่าที่คิดไว้ จากนั้นที่หลุมสุดท้าย ก็ตีช็อตที่สองได้ดีจริงๆ และพัตต์ลงหลุม มันเหมือนกับว่า ผลตอบแทนของการทำงานหนักมาทั้งหมดของจีน มันสำเร็จขึ้นแล้ว"
สำหรับผลงานนักกอล์ฟไทยคนอื่น ๆ "เม" เอรียา จุฑานุกาล อดีตแชมป์รายการนี้สกอร์รวม 10 อันเดอร์พาร์ 278 อันดับ 19 ร่วมรับเงินรางวัล 80,167 ดอลลาร์ "พราว" ชเนตตี วรรณแสน,จัสมิน สุวัณณะปุระ และ "เมียว" ปาจรีย์ อนันต์นฤการ รวม 7 อันเดอร์พาร์ 281 อันดับ 30 ร่วม รับเงินรางวัล 68,500 ดอลลาร์ "เปียโน" อาภิชญา ยุบล รวมอีเวนพาร์ 288 อันดับ 52 ร่วม รับเงินรางวัล 56,750 ดอลลาร์ "โม" โมรียา จุฑานุกาล รวม 1 โอเวอร์พาร์ 289 อันดับ 55 ร่วมรับเงินรางวัล 56,000 ดอลลาร์ และ "แพตตี้" ปภังกร ธวัชธนกิจ รวม 6 โอเวอร์พาร์ 294 จบอันดับ 30 รับเงินรางวัล 55,000 ดอลลาร์
นอกจากนี้ ยังมีการมอบรางวัล วาร์โทรฟี และ รุกกี้แห่งปี โดย อายากะ ฟุรุเอะ คว้ารางวัลวาร์โทรฟี (Vare Trophy) ในฐานะนักกอล์ฟทำสกอร์เฉลี่ยต่ำสุดของฤดูกาลกลายเป็นนักกอล์ฟญี่ปุ่นคนแรกที่คว้ารางวัลนี้ และ มาโอะ ไซโกะจากญี่ปุ่น คว้ารางวัลรุกกี้แห่งปี 2024 ไปครอง
No comments:
Post a Comment